คณะเทคนิคการแพทย์ RSU
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ก่อตั้งขึ้นโดยดำริของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อปี พ. ศ. 2530 โดยมีจุดประสงค์ที่จะผลิตบัณฑิตในสาขาขาดแคลน เพื่อที่จะออกมารับใช้สังคมอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป จึงจัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์ขึ้น เพื่อผลิตบุคลากรในตำแหน่งนักเทคนิคการแพทย์ ซึ่งนับว่ายังมีจำนวนน้อยไม่เพียงพอกับความต้องการของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเทคนิคการแพทย์ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการชันสูตรโรคของ สถานพยาบาลของรัฐและเอกชนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยมีคำขวัญประจำคณะว่า " ความรู้นำ คุณธรรมเด่น เน้นสามัคคี มีคุณภาพ "
แนวทางการประกอบอาชีพ
เป็นนักเทคนิคการแพทย์ประจำห้องปฏิบัติการชันสูตรในโรงพยาบาลของรัฐ และเอกชน นักวิจัยทางวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ และในโรงงานอุตสาหกรรม ควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหารเครื่องดื่มและยา วิเคราะห์สารพิษในโรงงานอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม เป็นตัวแทนบริษัทเครื่องมือวิทยาศาสตร์และน้ำยาตรวจสอบในฐานะผู้เชี่ยวชาญ เป็นอาจารย์ ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ทางด้านเทคนิคการแพทย์ พยาธิวิทยาคลินิก จุลชีววิทยา เภสัชวิทยา นิติเวชวิทยา พยาธิวิทยา สรีรวิทยา กายวิภาคศาสตร์ ปรสิตวิทยา แพทย์ศาสตร์ และเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น จากสถิติที่ผ่านมาบัณฑิตของคณะเทคนิคการแพทย์ประกอบอาชีพแล้วคิดเป็น 82%
หลักสูตรโครงสร้างหลักสูตร
ระยะเวลาศึกษาตามหลักสูตร 4 ปี จำนวนหน่วยกิตรวม 147 หน่วยกิต หมวดวิชาศึกษาทั่วไป ไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต กลุ่มวิชามนุษยศาสตร์ 6 หน่วยกิต กลุ่มวิชาสังคมศาสตร์ 6 หน่วยกิต กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ 9 หน่วยกิต กลุ่มวิชาภาษา 9 หน่วยกิต กลุ่มวิชาพลศึกษาและนันทนาการ 2 หน่วยกิต (ไม่นับรวมหน่วยกิต)หมวดวิชาเฉพาะ ไม่น้อยกว่า 111 หน่วยกิต กลุ่มวิชาพื้นฐานวิชาชีพ 52 หน่วยกิต กลุ่มวิชาชีพ 59 หน่วยกิตหมวดวิชาเลือกเสรี 6 หน่วยกิต
ปีที่ 1-2 วิชาพื้นฐาน วิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์
ปีที่ 3-4 วิชาชีพทางเทคนิคการแพทย์ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
จุลชีววิทยาคลินิก ศึกษาการเกิดโรคติดเชื้อ แนวทางการป้องกันโรค และวิธีตรวจวินิจฉัยโรค และสามารถประยุกต์นำความรู้มาใช้ในการควบคุมคุณภาพอาหารและผลิตภัณฑ์
วิทยาภูมิคุ้มกันคลินิก ศึกษาการตอบสนองทางระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย การทดสอบวิทยาภูมิคุ้มกันในการช่วยวินิจฉัยและการรักษาโรคตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สามารถประยุกต์ใช้กับระบบอุตสาหกรรม
โลหิตวิทยาและจุลทรรศนศาสตร์คลินิก ศึกษาเกี่ยวกับกำเนิดและพยาธิสภาพของเม็ดเลือด การตรวจวินิจฉัยโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดศึกษาหน้าที่และความผิดปกติของโรค
เคมีคลินิก ศึกษาเกี่ยวกับการตรวจวิเคราะห์สารต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ตรวจปริมาณน้ำตาล ไขมัน โปรตีน เอนไซม์ และฮอร์โมน ศึกษาแนวทางการใช้เครื่องอัตโนมัติ (Automated Analyzer) และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการตรวจวิเคราะห์
ปรสิตวิทยา ศึกษาเกี่ยวกับรูปร่างลักษณะ วงจรชีวิต ของเชื้อปรสิตที่มีความสำคัญทางการแพทย์ พยาธิสภาพในร่างกายที่เกิดจากปรสิต การวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ การกระจายทางภูมิศาสตร์ตลอดจนแนวทางการป้องกันการติดเชื้อปรสิตชนิดต่าง ๆ
ธนาคารเลือด ศึกษาหมู่โลหิตต่าง ๆ เทคนิคการให้เชือดและส่วนประกอบของเลือดโรคและอาการทางคลินิก ที่เกี่ยวข้องกับการให้เลือด และวิธีการทางห้องปฏิบัติการธนาคารเลือด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น